บลจ.ทิสโก้ เปิดกองทุนใหม่ ทิสโก้ World Brands (TBRAND) เน้นลงทุนหุ้นบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก ทั้งแบรนด์ขนาดใหญ่-แบรนด์ใหม่อนาคตไกล-แบรนด์ดิจิทัล พร้อมชูกลยุทธ์คัดหุ้นน้ำดีจากหลากอุตสาหกรรมเข้าพอร์ต เริ่มลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท (IPO) 1-9 ก.พ. 65
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อราคาสินค้าแพงกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นักลงทุนจึงเริ่มมองหาสินทรัพย์การลงทุนที่มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่น และมีผลให้ผลประกอบการทั้งในแง่รายได้และกำไรเติบโตดีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง บลจ.ทิสโก้มองว่าธุรกิจที่มี “แบรนด์” แข็งแกร่งสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ เพราะธุรกิจเหล่านี้มักจะมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า จากการเป็น “เจ้าตลาด” หรือครองส่วนแบ่งการตลาดในระดับสูง อีกทั้ง ผู้บริโภคมีความเชื่อถือในคุณภาพและบริการจึงทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ส่งผลให้ธุรกิจที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ลูกค้า บลจ.ทิสโก้จึงเปิดเสนอขาย กองทุนเปิด ทิสโก้ World Brands (TBRAND) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในบริษัทที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า (Brand) ชั้นนำในตลาดและมีคุณค่าเหนือระดับ บริษัทที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีชื่อเสียง มีคุณภาพสูงและให้ความหรูหรา หรือบริษัทที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดหาสินค้าและบริการ การผลิตสินค้าและบริการ หรือการจัดหาเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้า (Brand) ผ่านหน่วยลงทุนของกองทุน LO Funds – World Brands ชนิดหน่วยลงทุน Syst. NAV Hdg, (USD) N (กองทุนหลัก) บริหารและจัดการโดย Lombard Odier Funds (Europe) S.A. ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท เปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ 2565
สำหรับจุดเด่นของกองทุน TBRAND คือได้กระจายการลงทุนไปยังหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ “แบรนด์” มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มการเงิน กลุ่มเทคโนโลยี เป็นต้น อีกทั้งยังผสมผสานระหว่างหุ้นคุณค่า หุ้นเติบโต และหุ้นดิจิทัลไว้ด้วยกัน โดยกลุ่มแรกที่กองทุนหลักเน้นลงทุน คือ หุ้นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก (Global Brand) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “หุ้นคุณค่า” เพราะมีรายได้และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการกำหนดราคาที่สูงกว่าธุรกิจทั่วไป มีงบการเงินที่แข็งแกร่งและครองส่วนแบ่งการตลาดในระดับสูง เช่น Hermes, Nestle และ Ferrari เป็นต้น
นอกจากนี้ กองทุนหลักยังลงทุนในบริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคในระดับหนึ่ง (Upcoming Brand) โดยธุรกิจกลุ่มนี้จัดเป็นหุ้นเติบโต มีโอกาสสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าและบริการนำนวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และกำลังกินส่วนแบ่งทางการตลาดจากแบรนด์ขนาดใหญ่ เช่น PROYA ผู้นำแบรนด์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสัญชาติจีน และ lululemon ผู้นำแบรนด์เครื่องแต่งกายกีฬาสัญชาติแคนาดา เป็นต้น และเพื่อให้ผลตอบแทนเติบโตไปตามเมกะเทรนด์ของโลกยังลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับดิจิทัล (Digital Brand) รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สด้วย เช่น Adobe, Microsoft เป็นต้น
“จุดเด่นของกองทุนนี้คือการผสานหลากหลายธุรกิจไว้ด้วยกัน และยังช่วยจัดพอร์ตหุ้นเติบโตและหุ้นคุณค่าไว้ในกองทุนเดียว โดยผู้จัดการกองทุนมีความเชี่ยวชาญในการคัดเลือกหุ้นแบรนด์ชั้นนำ ด้วยประสบการณ์ในการบริหารกองทุนนี้มากว่า 13 ปี มีวิธีการคัดเลือกหุ้นที่เข้มข้นจากการคัดกรองหุ้นที่คาดว่าจะเป็นแบรนด์ทรงคุณค่าในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สและดิจิทัล และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยของคนเอเชียโดยเฉพาะการใช้จ่ายของชาวจีนซึ่งปัจจุบันประชากรจีนกลุ่ม Millennial และ Gen-Z จะเป็นกลุ่มหลักจับจ่ายสินค้า Luxury ซึ่ง Lombard Odier Funds คาดว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นกับประเทศ อื่น ๆ ในเอเชียอีกด้วย” นายสาห์รัชกล่าว
นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับสัดส่วนของหุ้นในกลุ่ม Global Brand, Upcoming Brand และ Digital Brand ได้อย่างอิสระเพื่อให้เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ ขณะที่การกระจายการถือหุ้นในพอร์ตข้อมูล จาก Lombard Odier Investment Managers ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564 พบว่า ผู้จัดการกองทุนหลักจะโฟกัสกับการลงทุนในหุ้นเพียง 30-60 ตัว และแต่ละตัวจะถือในสัดส่วนไม่เกิน 5% ของพอร์ตลงทุน และหุ้น 10 อันดับแรกจะถือไม่เกิน 50% ของพอร์ตลงทุน ซึ่งการกระจายน้ำหนักการถือหุ้นนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงและช่วยลดความผันผวนของพอร์ตรวมได้
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance